รู้จัก "REITs"

รู้จัก "REITs"

โดยฝ่ายส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ บลจ.ธนชาต

หากท่านได้ติดตามข่าวสารของแวดวงกองทุนรวมก่อนหน้านี้ คงทราบกันแล้วว่าปัจจุบัน หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการเพื่อให้กองทุนรวมสามารถลงทุนในกองทุน รวมอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ (REITs) ได้อย่างยืดหยุ่นขึ้น เช่น ในอนาคตอาจจะสามารถลงทุนได้เต็มจำนวน 100% จากปัจจุบันที่อนุญาตให้สามารถลงทุนได้เพียง 15% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนเท่านั้น

คำถามต่อมาที่หลายคนคงอยากทราบนะคะว่า REITs ที่กล่าวถึงกันนี้ คืออะไร

REITs หรือ Real Estate Investment Trusts โดยทั่วไปจัดตั้งขึ้นโดยมีกฎหมายพิเศษ เช่น ในสหรัฐ จัดตั้งขึ้นภายใต้ Real Estate Investment Trust Act of 1960 เพื่อให้ผู้ลงทุนทั่วไปสามารถลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โครงการใหญ่ ๆ หรือ Large scale commercial properties ได้ โดยเป็นการลงทุนในลักษณะของ Equity โดยหลักการกระจายผลประโยชน์ เหมือนกับการลงทุนในหุ้นของบริษัททั่วไปค่ะ นั่นคือ ผู้ถือหุ้นของ REITs จะได้รับผลประโยชน์ที่ได้มาจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของ REITs ตามสัดส่วนการถือหุ้นใน REITs ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นของ REITs จะได้รับประโยชน์เหนือกว่าการลงทุนโดยตรงในอสังหาริมทรัพย์เพียงแห่งเดียว เพราะมีการกระจายการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ชนิดต่าง ๆ และมีผู้ชำนาญด้าน Real Estate เป็นผู้บริหารจัดการ REITs ให้ โดยหุ้นของ REITs สามารถจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของต่างประเทศได้

ในสหรัฐ มี REITs กว่า 250 REITs ที่จดทะเบียนกับ The Securities and Exchange Commission และเป็น Listed REITs ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หลักของประเทศ โดยส่วนใหญ่ซื้อขายใน The New York Stock Exchange มูลค่าตลาดกว่า 395 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

REITs ในสหรัฐ อาจอยู่ในรูป Company ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ โดยได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเหนือกว่าบริษัท Real Estate ทั่วไป เช่น หากนำรายได้ส่วนใหญ่ เช่น 90% ที่ได้จากอสังหาริมทรัพย์นั้นจ่ายเป็นเงินปันผลให้ Shareholder REITs นั้นไม่ต้องนำรายได้ส่วนนี้ไปเสียภาษี เป็นต้น

ตาม Real Estate Investment Trust Act of 1960, Sec. 856 Definition of real estate investment trust กำหนดว่า REITs จะจัดตั้งขึ้นได้ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ ซึ่งแตกต่างจากบริษัททั่วไป เช่น

1. ต้องจัดตั้งในรูปของ Corporation, Trust หรือ Association

2. เป็น Taxable Corporation เว้นแต่จะได้รับยกเว้นตามกฎหมายนี้

3. บริหารจัดการ REITs ในระบบของคณะกรรมการ หรือ Trustee

4. Shares ของ REITs ต้องสามารถโอนเปลี่ยนมือได้

5. ต้องมี Shareholders อย่างต่ำ 100 ราย

6. ห้ามผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ภายใน 5 อันดับแรก) ถือหุ้นเกินกว่า 50%

7. ต้องลงทุนอย่างน้อย 75% ใน Real Estate

8. รายได้ของ REITs อย่างน้อย 75% ต้องมาจากค่าเช่าหรือผลประโยชน์จาก Real Estate

9. REITs จะต้องจ่ายเงินปันผลให้กับ Shareholders อย่างต่ำ 90% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษี (taxable income) จึงจะสามารถนำเงินปันผลจ่ายนี้ ไปหักออกจากรายได้ที่ต้องเสียภาษีได้

ในปี 2006 มี REITs ทั่วโลกทั้งหมดกว่า 480 REITs คิดเป็นมูลค่าตลาดโดยรวมกว่า 600 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในปัจจุบันตลาดของ REITs ได้แผ่ขยายไปยังหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น แคนาดา เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ และฮ่องกง เป็นต้น

คงต้องรอกันอีกซักพัก ช่องทางการลงทุนนี้ คงได้มีโอกาสมาพบกับผู้ลงทุนไทยค่ะ



BangkokBizNews

5 เหตุผล ทำตลาดเกิดใหม่ "หอม"

“กลุ่มตลาดเกิดใหม่โลก” หรือ “Global Emerging Market : GEM” เป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับการจับตาจากโลกมากที่สุดในปัจจุบัน ไม่เฉพาะจำนวนประชากรที่มีรวมกันประมาณ 3.9 พันล้านคนเท่านั้น แต่เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าตลาด อื่นในโลกอีกด้วย

ไม่ว่าจะเป็นตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (Emerging Asia) ตลาดเกิดใหม่ในละตินอเมริกา (Emerging Latin) หรือตลาดเกิดใหม่ในยุโรปตะวันออก (Emerging Eastern Europe)

ล้วนมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจที่สูง ซึ่งถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของกลุ่มตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ ยุโรป หรือ ญี่ปุ่น

จึงไม่น่าแปลกใจที่การลงทุนในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่โลกนี้ จัดเป็นหนึ่งในรูปแบบการลงทุนที่อยู่ในกระแสการลงทุนหลักของโลกในช่วง 3-5 ปีข้างหน้านี้

ทำไมกลุ่มตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกจึงมีความน่าสนใจ Fundamentals สัปดาห์นี้ได้รวบรวมเอา 5 เหตุผลที่น่าสนใจมานำเสนอ

................................................

ดุลบัญชีเดินสะพัดแกร่ง-บริษัทบริหารดี

ด้วยความมีเสน่ห์ของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่โลกนี้เอง จึงทำให้มี บลจ.หลายแห่งได้นำเสนอกองทุนที่ไปลงทุนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตลาดหุ้นหรือตลาดตราสารหนี้ก็ตาม วันนี้เราลองมาฟังทรรศนะจากผู้รู้ ถึงเหตุผลที่ทำให้กลุ่มตลาดเกิดใหม่มีความน่าสนใจในสายตาของนักลงทุนทั่วโลก

@ ตลาดเกิดใหม่จีดีพีแกร่ง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ "มร.คริสโตเฟอร์ หว่อง" ผู้จัดการฝ่ายการลงทุน อเบอร์ดีน แอสเซท เมเนเจอร์ส เอเชีย ลิมิเต็ด บอกว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทั้ง 7 (G-7) ปี 2007 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.3% และคาดว่าในปี 2008 จะลดลงเหลือ 1.6% เช่นเดียวกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มจะชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน จากที่เคยขยายตัว 5.2% ในปี 2007 จะลดลงเหลือ 4.8% ในปี 2008

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่คาดว่าจะขยายตัวในระดับที่สูงต่อเนื่องจากปี 2007 อยู่ที่ 8.3% จะลดลงเล็กน้อยเหลือ 7.9% ในปี 2008 แต่ยังถือว่าเป็นการเติบโตในระดับที่สูงและแข็งแกร่งอยู่ ถึงแม้ว่าช่วงนี้เกิดความไม่แน่นอนในโลกขึ้นจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัว โดยการเติบโตของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากตลาดเกิดใหม่ในเอเชียและละตินอเมริกาเป็นหลัก ในเอเชียจีนและอินเดียยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตที่สำคัญ ในขณะที่การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจมหภาคในอเมริกาใต้สร้างโอกาสในการลงทุน ให้ภูมิภาคนี้

“ในช่วง 3-5 ปี ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่า 20% ต่อปี เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงกลุ่มประเทศเหล่านี้ย่อมได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนอาจจะปรับตัวลดลงจากต้นทุนที่แพงขึ้น แต่ตัวเลขการเติบโตของกำไรก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงแม้ว่าจะเป็นตัวเลข เพียงหลักเดียวก็ตาม ในจังหวะนี้การที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงมา จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่บริษัทเหล่านี้จะได้มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงการ บริหารให้เข้ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถึงจุดนั้นเมื่อการบริหารเริ่มนิ่งเราจะเห็นการเติบโตของกำไรที่ดีขึ้น ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อราคาหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในอนาคตอย่างแน่นอน”

@ ถูกประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง

การเติบโตของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ยังถูกประเมินไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง ถ้าดูถึงขนาดของเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของเศรษฐกิจโลก แต่เมื่อมองในมิติของตลาดหุ้นแล้วกลุ่มตลาดเกิดใหม่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 8% ของดัชนี MSCI AC World เท่านั้น ซึ่งในอนาคตมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นอีกมาก เพราะสัดส่วนของตลาดหุ้นของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ยังไม่สะท้อนถึงขนาดเศรษฐกิจ ที่มีอยู่จริง อีกทั้งระดับราคาหุ้นก็ถูกประเมินไว้ต่ำกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ สัดส่วนหุ้นของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในดัชนี MSCI AC World ในปัจจุบันยังเป็นภาพที่สะท้อนถึงอดีตที่ผ่านมาแล้วแต่ไม่ได้แสดงถึงแนวโน้ม ในอนาคตของหุ้นตลาดเกิดใหม่แต่ประการใด

“ถ้ามองจากขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในโลกแล้ว โอกาสที่ตลาดหุ้นของกลุ่มตลาดเกิดใหม่จะเติบโตขึ้นเพื่อมีสัดส่วนที่เหมาะ สมในดัชนี MSCI AC World ยังมีอยู่อีกมากทีเดียว”

@ ดุลบัญชีเดินสะพัดแกร่ง

มร.คริสโตเฟอร์ หว่อง ยังบอกอีกว่า เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กลุ่มตลาดเกิดใหม่โลกมีความน่าสนใจจากการปฏิรูป มานานนับสิบปีภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลมีการควบคุมงบประมาณ การเงินการคลังของประเทศก่อให้เกิดดุลการค้าและสถาบันการเงินที่มีความแข็ง แกร่ง จนส่งผลให้ปัจจุบันกลุ่มตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกอยู่ในสถานะที่เกินดุลสุทธิใน ทุกทาง

หากเปรียบเทียบดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐเทียบกับกลุ่มตลาดเกิด ใหม่ จะพบว่ากลุ่มตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สหรัฐเองมีแนวโน้มที่จะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มตลาดเกิดใหม่ในปัจจุบันจึงเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเมื่อสิบปีก่อนมาจาก ประเทศผู้กู้มาเป็นผู้ให้กู้ มีรัฐบาลที่มั่นคง มีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ มีปัจจัยด้านต้นทุนที่ต่ำ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่น่าสนใจต่อการลงทุนและนำไปสู่วงจรแห่งการเติบโต โดยมีความมั่งคั่งและการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวขึ้น ส่งผลให้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น พร้อมทั้งมีความยั่งยืนและสมดุลมากขึ้นด้วย

ประกอบกับมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ อย่างต่อเนื่อง จากปี 2006 ที่มีเม็ดเงินไหลเข้า 22,384.70 ล้านดอลลาร์ ได้เพิ่มขึ้นเป็น 40,818.80 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะยังคงไหลมาในตลาดเกิดใหม่ต่อเนื่องในปี 2008 นี้ แม้ว่าตัวเลขอาจจะลดลงบ้างเล็กน้อยก็ตาม

กระแสเงินไหล (Fund Flow) ที่ไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่นั้น มีแนวคิด 2 ด้าน หนึ่งมองว่ากระแสเงินไหลเข้าเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2003 แล้ว ดังนั้น นักลงทุนกลุ่มหนึ่งก็จะมีกำไรจากการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ไปพอสมควรแล้ว เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในสหรัฐหรือยุโรปจากเรื่องซับไพร์ม ซึ่งทำให้เขามีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหา เงินลงทุนบางส่วนก็จะถูกขายทำกำไรออกมา แต่ก็เป็นการขายทำกำไรเพื่อนำเงินลงทุนกลับไปมากกว่า เพราะเขามีต้นทุนการลงทุนที่ค่อนข้างต่ำ นี่อาจจะส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนที่จะไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ไปบ้าง แต่นักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งก็ต้องมองหาโอกาสการลงทุนอยู่ เช่น นักลงทุนจากตะวันออกกลางที่มีความมั่งคั่งขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น เมื่อไม่รู้ว่าจะไปลงทุนที่ไหนโอกาสหนึ่งที่เขาจะเข้ามาลงทุนก็คือกลุ่มตลาด เกิดใหม่ ซึ่งจะทำให้แนวโน้มของเงินทุนไหลเข้าในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในระยะยาวยังคง เป็นบวกอยู่ ส่งผลให้เงินทุนสำรองของกลุ่มตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นความ แข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่มีอยู่

นอกจากนี้ สำนักจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้มีการปรับขึ้นอันดับเครดิตภาครัฐในกลุ่ม ตลาดเกิดใหม่อย่างต่อเนื่องทำให้เครดิตรัฐบาลกลุ่มตลาดเกิดใหม่ปรับตัวดี ขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้ต้นทุนของเงินทุนต่ำลง ช่วยกระตุ้นการลงทุนได้ดีขึ้นกว่าเดิม ในปัจจุบันกลุ่มตลาดเกิดใหม่เป็นทั้งผู้รับเงินทุนและผู้จัดหาเงินทุนให้โลก ผ่านกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Severeign Wealth Fund : SWF)

@ บริษัทมีการบริหารที่ดี

ไม่เพียงเท่านี้ มร.คริสโตเฟอร์ หว่อง ยังมองว่าบริษัทในกลุ่มตลาดเกิดใหม่มีระบบบริหารจัดการที่ดีทำให้บริษัท สร้างเงินสดได้เพิ่มขึ้น โดยมีกระแสเงินสด (Free cash flow) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมาและสามารถนำไปชำระหนี้ได้ และยังมีเงินสดเหลือหลังจากที่จ่ายหนี้ไปแล้ว จนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้เงินทุนอย่างชาญฉลาดนั่นเอง โดยกลุ่มตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกมีแนวโน้มของอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิลดลงใน ทุกภูมิภาค อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียที่ระดับ 15.6% ในปี 2007 จะลดลงเหลือ 11.1% และ 6.0% ในปี 2008 และ 2009 ตามลำดับ เช่นเดียวกับตลาดเกิดใหม่ในยุโรปตะวันออกที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิ ในปี 2007 อยู่ที่ 16.9% จะลดลงเหลือ 14.0% และ 9.8% ในปี 2008 และ 2009 ตามลำดับ

ด้านตลาดเกิดใหม่ในอเมริกาใต้และอเมริกากลางที่มีอัตราส่วนหนี้สิน ต่อทุนสุทธิในปี 2007 อยู่ที่ 40.2% จะลดลงเหลือ 32.7% และ 34.0% ในปี 2008 และ ปี 2009 ตามลำดับ ส่วนตลาดเกิดใหม่ในแอฟริกาที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิในปี 2007 อยู่ที่ 28.9% จะลดลงเหลือ 21.1% และ 12.2% ในปี 2008 และ ปี 2009 ตามลำดับ ในขณะที่ตลาดเกิดใหม่ในตะวันออกกลางที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิในปี 2007 อยู่ที่ 214.6% จะลดลงเหลือ 172.5% และ 181.2% ในปี 2008 และ ปี 2009 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ทรัพย์สินของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ยังมีความหลากหลายมาก ในขณะที่หลายประเทศส่งออกสินค้าไปยังตลาดเดียวกันและเป็นคู่แข่งกันเอง แต่อีกหลายประเทศที่มีความหลากหลายของประเภทธุรกิจกลับไม่มีผลกระทบต่อกัน เช่น ปัจจัยลบต่อธนาคารแห่งหนึ่งในเม็กซิโก กลับมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อธุรกิจอื่นในประเทศอื่น เช่น แทบไม่มีผลต่อซูเปอร์มาร์เก็ตในแอฟริกาใต้ หรือบริษัทเหมืองแร่ในรัสเซีย

“การที่ตลาดหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ปรับ ตัวลงในช่วงที่ผ่านมา จึงถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการที่จะเข้าไปลงทุน ถ้ามองจากพื้นฐานราคาที่ปรับตัวลงมาทำให้ความเสี่ยงลดลง เมื่อเทียบกับโอกาสในการเติบโตในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ จึงเป็นจังหวะที่ดีที่จะเข้าไปลงทุน"

@ มูลค่าสมเหตุสมผล

กลุ่มตลาดเกิดใหม่ในแต่ละภูมิภาคเปิดโอกาสให้ลงทุนในหุ้นดีที่มี มากกว่า 800 หุ้น มีสัดส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) เฉลี่ย 14-15 เท่า มีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่สูง 17-25% ด้าน "อลัน แคม" กรรมการผู้จัดการ บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การลงทุนในตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกยังมีความน่าสนใจแล้วแต่ว่าผู้ลงทุนชอบ ภูมิภาคใด ในส่วนของตลาดเกิดใหม่ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกน่าสนใจไม่แพ้ภูมิภาคอื่น เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงจากผลกระทบของปัญหาซับไพร์ม เห็นได้จากสัดส่วนราคาต่ำกำไรสุทธิ (P/E) ของหุ้นในกลุ่มประเทศดังกล่าวขยับลงมาอยู่ที่ระดับ 6-8 เท่า ซึ่งถือว่าต่ำกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะเข้าไปลงทุนในระยะยาว

ทั้งนี้กลุ่มตลาดเกิดใหม่หลายประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะ เศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอเมริกามากนัก เพราะเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่มีความแข็งแกร่งและขับเคลื่อนจากการบริโภคและ การลงทุนในประเทศมากขึ้น กลุ่มตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกมีประชากรรวมกันกว่า 3,900 ล้านคน มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกัน 2 ล้านล้านดอลลาร์ มีจีดีพีรวมกันประมาณ 8 ล้านล้านดอลลาร์

“นอกจากนี้ กลุ่มประเทศเหล่านี้ลดการพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐลงตามลำดับ เช่น จีนที่มีอัตราการส่งออกไปสหรัฐเพียง 22% อินเดียส่งออกไปสหรัฐ 30% ไทยเองที่เคยมีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐสูงถึง 80% ในปี 1998 ปัจจุบันลดลงเหลือ 26% เท่านั้น โดยกลุ่มตลาดเกิดใหม่มีการส่งออกไปกลุ่มประเทศยุโรป และประเทศเอเชียด้วยกันมากขึ้น นี่จึงทำให้ตลาดเกิดใหม่ในโลกยังมีความน่าสนใจ”

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลหลักทั้ง 5 ประการ ที่ทำให้ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่โลกมีความน่าสนใจในมุมมองของนักลงทุนทั่วโลก



BangkokBizNews